วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

RMF ; LTF ; ETF

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คืออะไร

เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีเงินได้มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด

RMF ให้อะไรคุณได้บ้าง
1) ช่วยให้คุณเสียภาษีเงินได้น้อยลงจากเดิม*
2) ช่วยให้คุณมีวินัยในการออม เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุ
3) เปิดโอกาสให้คุณมีอิสระที่จะเลือกการลงทุนที่เหมาะกับตัวคุณเอง

* ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด
ผู้ลงทุนจะเสียภาษีน้อยลงก็ต่อเมื่อ เป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน
และเงินบริจาคทั้งปี สูงกว่า 80,000 บาท และมีเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข.
ในปีนั้นๆ น้อยกว่า 295,000 บาท

RMF ช่วยลดภาษีอย่างไร

ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนใน RMF มาหักออกจากเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายในปีนั้น ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งมีผลทำให้ฐานเงินได้สุทธิสำหรับการคำนวณภาษีลดลง และส่งผลให้ผู้ลงทุนเสียภาษีน้อยลง

กรณีผู้ลงทุนมีฐานรายได้สูง จะยิ่งมีอัตราการประหยัดภาษีที่สูงขึ้น เนื่องจากระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบอัตราก้าวหน้า (ฐานเงินได้ในส่วนที่มากขึ้น จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นด้วย)

จำนวนเงินลงทุนใน RMF ที่สามารถนำมาหักออกจากเงินได้

กรณีผู้ลงทุนไม่มีเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข.
ขั้นต่ำ = 3% ของเงินได้ทุกประเภท หรือ 5,000 บาท (เลือกจำนวนที่ต่ำกว่า)
ขั้นสูง = 15% ของเงินได้ทุกประเภท และ ไม่เกิน 300,000 บาท

กรณีผู้ลงทุนมีเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข.
ขั้นต่ำ = 3% ของเงินได้ทุกประเภท หรือ 5,000 บาท (เลือกจำนวนที่ต่ำกว่า)
ขั้นสูง = 15% ของเงินได้ทุกประเภท และ เมื่อรวมเงินสะสมเข้ากองทุนสำรอง
เลี้ยงชีพและ กบข. แล้วไม่เกิน 300,000 บาท

RMF เสี่ยงหรือไม่

RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ซึ่งระดมเงินจากผู้ลงทุนจำนวนมาก เพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ นโยบาย และระดับความเสี่ยง ที่แต่ละกองทุนกำหนด เช่น

- กองทุนตราสารตลาดเงิน เน้นลงทุนในเงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญา
- ใช้เงิน พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น เป็นต้น
- กองทุนตราสารหนี้ เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นต้น
- กองทุนตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้น เป็นต้น

ดังนั้น ความเสี่ยงในการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับประเภทกองทุนที่ผู้ลงทุนเลือก ซึ่งผู้ลงทุนสามารถจัดสรรการลงทุนระหว่างกองทุนต่างๆในสัดส่วนที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดได้ โดยได้รับคำแนะนำจากผู้วางแผนการลงทุนของบลจ. ทหารไทย

เงื่อนไขการลงทุนของ RMF

1) ลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินรวมกันทั้งปีเพียง 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาท (เลือกจำนวนที่ต่ำกว่า)
2) ลงทุนขั้นสูงในแต่ละปีภาษีไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรอง
เลี้ยงชีพ หรือ กบข. แล้ว ไม่เกิน 300,000 บาท
3) คุณสามารถนำเงินลงทุนใน RMF ที่จ่ายจริง ในอัตราที่กฎหมายกำหนด มาหักออกจากเงินได้หลังหัก
ค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้คุณเสียภาษีเงินได้น้อยลง
4) ลงทุนต่อเนื่องกัน* จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และ อย่างน้อย 5 ปี (นับวันชนวัน และนับเฉพาะปีที่ลงทุน**) กรณีที่คุณเริ่มลงทุนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี คุณยังต้องลงทุนต่อเนื่องกัน* เป็นระยะเวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี ***
5) ในระหว่างปี คุณสามารถเลือกลงทุนกี่ครั้งก็ได้ และไม่จำเป็นต้องลงทุนเท่ากันในแต่ละปี
6) ไม่ควรลงทุนในจำนวนเกินกว่าที่ได้รับสิทธิลดหย่อน (เนื่องจากต้องมีภาระภาษีเกิดขึ้นหากขายในส่วน
นี้แล้วมีกำไร ไม่ว่าจะขายเมื่อใดก็ตาม)

หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จะมีผลอย่างไร


1) กรณีเว้นการลงทุน 2 ปีติดต่อกัน (โดยผู้ถือหน่วยมีอายุน้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ หรือลงทุนมาน้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก)
ชำระคืนภาษี 5 ปีย้อนหลัง/1 (หากชำระคืนล่าช้า ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร/2)

2) กรณีขายคืน RMF ที่เคยได้รับลดหย่อนภาษีมาแล้ว และผู้ถือหน่วยอายุน้อยกว่า 55 ปี บริบูรณ์ จะต้องปฏิบัติ ดังนี้

กรณีลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

ชำระคืนภาษี 5 ปีปฏิทินย้อนหลัง/1 (หากชำระคืนล่าช้า ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่ม/2 และอาจต้องเสียเบี้ยปรับ/3 ด้วยแล้วแต่กรณี)

กรณีลงทุนมาน้อยกว่า 5 ปี
ชำระคืนภาษี
5 ปีปฏิทินย้อนหลัง/1 และต้องนำกำไร(ถ้ามี)ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษี/4 (หากชำระคืนล่าช้า ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่ม/2 และอาจต้องเสียเบี้ยปรับ/3 ด้วยแล้วแต่กรณี)

3) กรณีในระหว่างปีผู้ลงทุนขายคืน RMF เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไปในปีปัจจุบัน หรือขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่จะลงทุนในปีเดียวกันนั้น

กรณีลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ชำระคืนภาษี 5 ปีปฏิทินย้อนหลัง/1 (หากชำระคืนล่าช้า ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่ม/2 และอาจต้องเสียเบี้ยปรับ/3 ด้วยแล้วแต่กรณี)

กรณีลงทุนมาน้อยกว่า 5 ปี
ชำระคืนภาษี 5 ปีปฏิทินย้อนหลัง/1 และต้องนำกำไร(ถ้ามี)ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษี/4 (หากชำระคืนล่าช้า ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่ม/2 และอาจต้องเสียเบี้ยปรับ/3 ด้วยแล้วแต่กรณี)

4) กรณีขายคืน RMF ที่ลงทุนเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
ต้องนำกำไร (ถ้ามี) ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษี/4

/1 ต้องชำระภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนมาแล้ว โดยนับย้อนหลังตั้งแต่ปีก่อนปีที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลง
ทุน และชำระคืนภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุน

/2 เงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระคืน
(เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ลงทุน (5 ปีปฏิทินย้อนหลัง) จน
ถึงเดือนที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกิน
จำนวนภาษีที่ต้องชำระคืน

/3 เบี้ยปรับตามมาตรา 22 หรือ 26 แห่งประมวลรัษฎากร

/4 ภาษีของกำไรนี้ จะต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นๆที่ได้รับในปีภาษีนั้น โดยยื่นในแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ขาย

LTF คืออะไร

LTF ย่อมาจาก Long Term Equity Fund หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นกองทุนรวมแบบพิเศษที่ให้สิทธิผู้ลงทุนนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

LTF มีที่มาจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ เพราะเชื่อว่าหากต้องการให้ตลาดหุ้นของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นจำเป็นต้องมีสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันในประเทศที่มีคุณภาพ (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ากองทุนรวม) มากกว่าปัจจุบัน จึงจะทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ผันผวนตามแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยมากจนเกินไป และทำให้เกิดเสถียรภาพในระบบตลาดทุนไทยในที่สุด

ด้วยเหตุนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาวขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในกองทุน LTF

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุน
เงินลงทุนใน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15%ของรายได้ในแต่ละปีแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซื้อปีไหนก็ใช้ลดหย่อนภาษีของปีนั้น ส่วนจะประหยัดภาษีได้เท่าไร ก็ขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละคน ยิ่งฐานภาษีสูงมากก็ยิ่งประหยัดได้มาก

LTF กับการลงทุนในหุ้นเนื่องจาก LTF เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันในตลาดหุ้น LTF จึงถูกกำหนดให้เป็นกองทุนหุ้นที่ต้องลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ mai เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ65 ในรอบปีบัญชี และผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปีปฏิทิน จึงจะถอนได้โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีรู้จัก LTF แบบต่างๆ ก่อนลงทุน

แม้ว่า LTF ทุกกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นเหมือนๆ กัน แต่ที่ผ่านมากลับให้ผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน เพราะแต่ละกองทุนล้วนมีความแตกต่างทั้งรูปแบบกองทุน ลักษณะของหุ้นที่ลงทุน และฝีมือการบริหารของผู้จัดการ ดังนั้นก่อนที่จะเลือกลงทุนใน LTF ผู้ลงทุนควรทำความรู้จักกับ LTF กองทุนนั้นๆ ให้ดีเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร นโยบายตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

ประเภทของ LTF

แบ่งตามสัดส่วนการลงทุน -- วิธีนี้แบ่งได้ 3 กลุ่ม

1.LTF ที่ลงทุนในหุ้นเต็มที่แบบกองทุนหุ้น กลุ่มนี้ผู้จัดการกองทุนจะบริหารกองทุน LTF ของตนเหมือนกับกองทุนหุ้นและลงทุนเต็มที่ในหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนมากที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

2. LTF ที่ลงทุนในหุ้นบางส่วนและกำหนดสัดส่วนไว้ชัดเจน กองทุน LTF ในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มแรก เพราะเงินที่มีจะถูกนำไปลงทุนในหุ้นเพียงบางส่วนและบอกให้ผู้ลงทุนรู้ว่าจะลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ลงทุนในหุ้นเพียง70% อีก 30% ลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้มีความผันผวนน้อยกว่า ทั้งขาขึ้นและขาลง เหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่ากองทุนหุ้นทั่วไปแต่ ยอมรับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนน้อยลงได้ 3. LTF ที่ลงทุนในหุ้นเพียงบางส่วนแต่ไม่กำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน – LTF กลุ่มนี้จะคล้ายกับกลุ่มที่2 คือเงินที่มีในกองทุนจะลงทุนในหุ้นเพียงบางส่วนแต่ไม่กำหนดชัดเจนว่าเท่าไร LTF มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มแรก กลุ่มนี้จะมีเป้าหมายในการดูแลรักษาเงินต้นของผู้ลงทุนไม่ให้ขาดทุนมากกว่ามุ่งหาผลตอบแทน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการให้เงินต้นไม่ขาดทุนมากกว่าเน้นเรื่องผลตอบแทน

แบ่งตามนโยบายการจ่ายปันผล – 2 กลุ่ม

  1. LTF ที่มีนโยบายการจ่ายปันผล กลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยากได้เงินกำไรคืนบ้างระหว่างการลงทุน แต่เงินปันผลที่ได้จะต้องเสียภาษี
  2. LTF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล กลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์จากภาษีเงินปันผล โดยยอมที่จะไม่รับผลตอบแทนคืนระหว่างลงทุน

แบ่งตามนโยบายการลงทุน – 2 กลุ่ม

  1. LTF ที่บริหารเชิงรุก ผู้จัดการกองทุนจะเน้นบริหารให้ได้ผลตอบแทนเต็มที่ มีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนให้สูงที่สุด ภายใต้ความเสี่ยงที่ประเมินแล้วยอมรับได้ เหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนในหุ้นที่เชื่อในความสามารถการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนLTF ที่บริหารเชิงรับ หรือ LTF ที่เป็นกองทุนรวมดัชนี ผู้จัดการกองทุนจะบริหาร LTF ให้ได้ผลตอบแทนขึ้นลงตามการขึ้นลงของดัชนีอ้างอิง เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่เชื่อว่าผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงจะเพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่ลงทุน โดยไม่ต้องการเสี่ยงกับการบริหารและการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุน

แบ่งตามนโยบายการเลือกหุ้นลงทุน

วิธีนี้ทำให้แบ่ง LTF ได้หลากหลายขึ้นกับว่ากองทุนมีแนวทางการเลือกหุ้นลงทุนอย่างไร บางกองทุนไม่กำหนดลักษณะของหุ้นที่จะลงทุนแน่นอนและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ บางกองทุนกำหนดไว้เลยว่าจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่มี Market Cap. สูง หรือขนาดเล็ก เลือกลงทุนเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET50 หรือบางกองทุนเลือกหุ้นลงทุนไม่เกิน 10 ตัว เป็นต้น ซึ่งกองทุนไหนจะเหมาะกับใครก็ขึ้นกับความชอบของผู้ลงทุนแต่ละคน

ทำไมต้องซื้อ LTF

สิ่งหนึ่งใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามไปก็คือการลงทุนใน LTF เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ไกลตัว หรือมีความเข้าใจในเรื่องการลงทุนในหุ้นที่น้อย แต่ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตามที่ LTF กลับเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม คุณควรปฏิบัติการลงทุนด้วยเหตุผลก็คือผู้ที่ลงทุนใน LTF ได้รับสิทธิประโยชน์อันสำคัญจากรัฐ คือ การลดหย่อนภาษี ซึ่งมีประโยชน์แฝงอยู่ที่หลาย ๆ คนอาจคิดไม่ถึง ภาษีที่คุณได้ลดหย่อนมากขึ้นนั้นกลับแปรเปลี่ยนเป็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่คุณต้องการ ใฝ่ฝัน หรือปรารถนา อาทิ นำไปใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว UNSEEN THAILAND นำไปต่อยอดการลงทุนไว้สำหรับการเกษียนในภายภาคหน้า หรือแปรเปลี่ยนเป็นค่าเทอมลูกจากโรงเรียนธรรมดาเป็นโรงเรียนอินเตอร์ ประโยชน์ต่อมาก็คือ เงินลดหย่อนที่คุณได้รับเสมือนกับการที่คุณซื้อหุ้นได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่น ( หรือที่ภาระการเงินเรียกว่าซื้อที่ price-earning ratio (P/E RATIO) ที่ต่ำกว่า
คนอี่น) โอกาสกำไรจากการลงทุน (CAPITAL GAIN) ในอนาคตจึงมากกว่าผู้ที่ลงทุนในรูปแบบปกติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณได้ลดหย่อนภาษี 30% หรือเมื่อคำนวณออกมาแล้วสามารถประหยัดภาษีได้ 67,500 บาท นั้น คุณก็เสมือนซื้อหุ้นพื้นฐานดี อาทิ หุ้นปตท. ได้ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่น 67,500 บาท โอกาสกำไรจึงมากกว่า ขณะเดียวกัน โอกาสขาดทุนก็ต่ำลงไปพร้อม ๆ กัน

ผลตอบแทนจากการลงทุน

ใน LTF เป็นช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนแบบอื่น เพราะนโยบายของ LTF ก็คือลงทุนในหุ้น จากข้อมูลผลตอบแทนของการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ของประเทศไทย ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2518-2548) การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 12 ต่อปี แม้ว่าในช่วงปี 2540-2544 จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างมาก ส่วนพันธบัตรในช่วงเดียวกันให้ผลตอบแทนร้อยละ 10 ต่อปีทั้งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมากนักเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ส่วนเงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนร้อยละ 7 ต่อปี และทองคำให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 3 ต่อปี

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging คืออะไร

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน คือ วิธีการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าให้นักลงทุนระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่ดี วิธีนี้นักลงทุนต้องสร้างวินัยการลงทุนให้ตนเอง ลงทุนในหลักทรัพย์เป็นประจำสม่ำเสมอ ตามช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุกวันที่ห้าของเดือนจะซื้อกองทุนหุ้นกองหนึ่ง หรือซื้อหุ้นกลุ่มหนึ่งเป็นจำนวน 5,000 บาท โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นในตอนนั้นเป็นเท่าไหร่ จะขึ้นหรือตก

ผลการศึกษาในการลงทุนอย่างต่อเนื่องใน SET index ทุกเดือนเป็นเวลา 4 ปี นับจาก มกราคม 2545 ถึง ธันวาคม 2548 นั้นการลงทุนแบบเฉลี่ยซื้อได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในช่วงปลายปี ปีละครั้งถึงร้อยละ 8.27 เลยทีเดียว รวมถึงสูงกว่าการลงทุนที่ซื้อไตรมาสละครั้ง ร้อยละ 2.65 หรือ ครึ่งปีครั้ง ร้อยละ 4.07 อีกด้วย

ประหยัดภาษี

LTF เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้น้อยลง และเป็นช่องทางช่องทางการประหยัดภาษีที่มีข้อได้เปรียบมากกว่าการประหยัดภาษีแบบอื่น คือ

  • ไม่ต้องลงทุนยาวนานลงทุนเพียง 5 ปีปฏิทินก็สามารถไถ่ถอนคืนได้ หรือถ้าอยากลงทุนต่อก็ทำได้
  • ไม่มีข้อผูกพันว่าต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ถ้าต้องการลดหย่อนภาษีปีไหนก็ค่อยลงทุนปีนั้น
  • มูลค่าที่สามารถลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 15%ของรายได้สูงสุดถึง 500,000 บาทต่อปี ดังนั้นใครที่เสียภาษีในอัตราที่สูงก็จะยิ่งได้ประโยชน์จาก LTF

ETF คืออะไร

Exchange Traded Fund (ETF) คือ กองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อขายสะดวกเหมือนหุ้น แต่กระจายความเสี่ยงเหมือน Index Fund ที่เสียค่าบริหารจัดการต่ำกว่ากองทุนอื่นๆ กองทุน ETF สามารถอ้างอิงสินค้าได้หลายประเภท เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ (Equity ETF) ดัชนีราคาตราสารหนี้ (Bond ETF) และ ดัชนีราคาทองคำ (Gold ETF)

โดย ETF มีลักษณะสำคัญดังนี้
- ทำการซื้อขายได้ real time ผ่านโบรกเกอร์เท่านั้น เสมือนเป็นหุ้นๆ หนึ่ง
- ผลตอบแทนของ ETF จะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง
- สินทรัพย์ที่กองทุนถือ เป็นพอร์ตการลงทุนในดัชนีอ้างอิง
- ไม่มีกำหนดอายุโครงการ
- มีคุณสมบัติพิเศษที่ส่งเสริมการทำ market making และ arbitrage ส่งผลให้ราคาซื้อขายของหน่วยลงทุนใกล้เคียงกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย
(Intraday Indicative Value: IIV)

  • ซื้อ ETF 1 หน่วย เหมือนได้ซื้อสินทรัพย์อ้างอิงหลายตัวพร้อมกัน
  • ETF ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในราคาสินค้าอ้างอิงหลายตัว หรือ ราคาหุ้นหลายตัว และหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงานและสาธารณูปโภค, ธนาคาร, วัสดุก่อสร้าง, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ
  • ETF สามารถซื้อง่าย ขายคล่อง เหมือนหุ้น และสามารถซื้อขายได้ที่ทุกโบรกเกอร์ โดยมีขั้นตอนการซื้อขายและใช้บัญชีซื้อขายเหมือนหุ้นปกติ
  • ETF โปร่งใส มีการประกาศสัดส่วนการลงทุนทุกวัน (PDF)
  • ผู้ลงทุนทราบมูลค่าอ้างอิงของ ETF ได้จากค่า IIV (Intraday Indicative Value) ที่คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น โดยผู้จัดการกองทุนทำการคำนวณและเผยแพร่ IIV เป็นราย 30 วินาที

ผู้ลงทุนใน ETF จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 2 แบบด้วยกัน

กำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) : ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่า ETF ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีอ้างอิง

เงินปันผล (Dividend) : ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับเงินปันผล เมื่อหุ้นอ้างอิงในกองทุนจ่ายเงินปันผล เพื่อทำให้มูลค่าของหุ้นอ้างอิงใกล้เคียงกับราคากองทุนมากที่สุด ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะไม่ทำให้กองทุนมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในงวดบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น

ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนรายย่อย
เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงโดยใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก และเสียค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ETF จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมาก่อน

ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนสถาบัน
ผู้ลงทุนสถาบันสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนใน ETF แบบ core/satellite investment strategy โดยลงทุนใน ETF ซึ่งมีนโยบายลงทุนตามดัชนีอ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีอ้างอิง (portfolio’s performance vs. benchmarks) และส่วนที่เหลือผู้ลงทุนสถาบันสามารถจะลงทุนในหุ้นรายตัว (individual stock) เพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ผู้ลงทุนมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เพิ่งเข้ามา แต่ผู้ลงทุนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวใด การลงทุนใน ETF เอาไว้ก่อนก็จะช่วยให้ผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุนไม่เบี่ยงเบนไปจาก benchmarks มากจนเกินไป

อนึ่งผู้ลงทุนสถาบันยังสามารถใช้ ETF เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อีกด้วย

ความแตกต่าง

ETF

กองทุนรวม

ข้อมูลราคาซื้อขาย

ตลอดเวลาทำการ

สิ้นวันทำการ

ช่องทางการซื้อขาย

โบรกเกอร์ทุกแห่ง

บลจ. หรือ ตัวแทนจำหน่าย

ส่งคำสั่งแบบ Market / Limit / Stop

ได้

ไม่ได้

การซื้อขายในบัญชีมาร์จิ้น

ได้

ไม่ได้

ค่าธรรมเนียมการบริหาร

ต่ำ (~0.40 – 0.55 % ต่อปี)

ต่ำ ปานกลาง (~0.55 - 0.70 % ต่อปี

ลงทุนระยะยาว

เหมาะสม

เหมาะสม

ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย ETF กับ KGI ได้หลายวิธี ได้แก่

ETF เป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย ETF สามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้น นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังสามารถซื้อขาย ETF กับโบรกเกอร์ได้ทุกราย

ลูกค้า :

ทุกประเภท

วิธีซื้อขาย :

ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซื้อขายขั้นต่ำ :

หน่วยการซื้อขาย (100 หน่วย)

เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อขาย ETF จำนวนมาก ตั้งแต่ 1 Creation Unit (CU) ขึ้นไป โดยผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำการต่อรองเพื่อตกลงซื้อขาย ETF แล้วจึงทำการบันทึกรายการซื้อขายนั้นเข้ามาในระบบ Put-through

ลูกค้า :

ทุกประเภท

วิธีซื้อขาย :

Put-through

ซื้อขายขั้นต่ำ :

1 CU และ/หรือ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของ 1 CU

เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการสั่งซื้อ (Create) ETF จำนวนมาก ตั้งแต่ 1 CU ขึ้นไป โดยผู้ลงทุนจะต้องชำระค่าสั่งซื้อ ETF ให้แก่ KGI ด้วยตระกร้าหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยหุ้นที่อยู่ในดัชนีอ้างอิง และเงินสดตามจำนวนที่ผู้จัดการกองทุนได้ประกาศทุกวัน (Portfolio Depository File : PDF)

และในทางกลับกัน ผู้ลงทุนที่ต้องการขายคืน (Redeem) ETF จำนวนมาก ตั้งแต่ 1 CU ขึ้นไป KGI จะชำระค่าขายคืน ETF ให้แก่ผู้ลงทุนด้วยตระกร้าหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยหุ้นในดัชนีอ้างอิง และเงินสดตามจำนวนที่ผู้จัดการกองทุนได้ประกาศทุกวัน (PDF)

ลูกค้า :

ลูกค้านิติบุคคล

การสั่งซื้อ (Creation) :

นำ PDF มาแลกเป็น ETF

การขายคืน (Redemption) :

นำ ETF มาแลก PDF คืน

สั่งซื้อ / ขายคืนขั้นต่ำ :

1 CU และ/หรือ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของ 1 CU

ค่าธรรมเนียม :

0.05 % ของมูลค่า 1 CU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น